- ต่ำกว่า 13 g/dL ในผู้ชาย
- ต่ำกว่า 12 g/dL ในผู้หญิง
- ต่ำกว่า 11 g/dL ในผู้หญิงตั้งครรภ์
ภาวะนี้ไม่ใช่โรคโดยตรง แต่เป็นสิ่งบอกเหตุว่าอาจมีโรคอื่นๆซ่อนอยู่ ดังนั้นหากพบภาวะโลหิตจาง ต้องมีการค้นหาสาเหตุเสมอ
แล้วภาวะโลหิตจาง เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
เนื่องจากเม็ดเลือดภายในร่างกาย มีการสร้างและทำลายอยู่ตลอด เราสามารถแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 3 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ การสร้างน้อยลง การทำลายมากขึ้น หรือ การสูญเสียเลือดจากร่างกาย
1.การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
- การสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูกมีความผิดปกติ อาจเกิดจาก โรคของไขกระดูกเอง เช่น (Aplastic Anemia) หรือ โรคอื่นที่มีการลุกลามไปไขกระดูก เช่น มะเร็งบางชนิด
- ได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน เช่น ขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิก (Folic acid) หรือวิตามินบี 12 โดยการขาดสารอาหาร อาจเกิดจากอาหารการกิน เช่น มังสวิรัติ ไม่กินผักใบเขียว หรือเกิดจากการดูดซึมที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะ ผู้ป่วยที่มีพยาธิบางชนิด เป็นต้น
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการสร้างเม็ดเลือดเช่นกัน
หนึ่งในสาเหตุที่พบเยอะ คือ การขาดธาตุเหล็ก ดังนั้นในบุคคลทั่วไปควรเสริม โดยการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง พืชผัก (ข้าว ถั่ว)
2.การทําลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น
- โรคโลหิตจางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) โรคขาดเอนไซน์ G-6-PD
- โรคภูมิต้านทานทําลายเม็ดเลือดแดงตนเอง
- การติดเชื้อบางเชื้อ เช่น มาลาเลีย
ภาวะที่มีการทำลายเม็ดเลือดมักตรวจพบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ม้ามโต ปัสสาวะสีโค้ก เป็นต้น
3.การสูญเสียเลือด
- อุบัติเหตุเฉียบพลัน
- เสียเลือดปริมาณมากทางประจำเดือน อาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน หรือมดลูก เช่น เนื้องอกในมดลูก ซึ่งขัดขวางการบีบตัวหยุดเลือดเป็นต้น
- เสียเลือดในทางเดินอาหาร โดยอาจพบอาการผิดปกติเช่น ถ่ายดำ สาเหตุอาจเกิดจากโครงสร้างที่ผิดปกติของลำไส้ การมีก้อนเนื้องอก หรือการมีพยาธิ เป็นต้น
นอกจากนี้ช่วงเวลาการเกิดโลหิตจางเองก็อาจบอกใบ้สาเหตุที่พบได้บ่อยได้เช่นกัน
- เกิดแบบ เฉียบพลัน (Acute)
อาจคิดถึง การเสียเลือด หรือ กลุ่มโรคที่มีการทำลายเม็ดเลือด มากยิ่งขึ้น - เกิดแบบ กึ่งเฉียบพลัน (Subacute)
อาจคิดถึง กลุ่มโรคที่รบกวนการสร้างเม็ดเลือดจากไขกระดูก - เกิดแบบ เรื้อรัง (Chronic)
อาจคิดถึง การขาดสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือด
ในการวินิจฉัยถึงสาเหตุ นอกจากค่า Hemoglobin แพทย์ยังดูค่าอื่นๆของการตรวจเลือดประกอบ ทั้งขนาดของเม็ดเลือด ความสม่ำเสมอของขนาดเม็ดเลือด โดยมีการเปรียบเทียบผลการตรวจกับครั้งก่อนหน้า การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการนำหยดเลือดไปส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์ (Peripheral blood smear)
ในหลายครั้งแพทย์จำเป็นที่จะต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่งเจาะระดับธาตุเหล็ก (Iron study) ในรายที่ส่งสัยการขาดธาตุเหล็ก การส่งตรวจ Hb Typing ในรายที่สงสัยธาลัสซีเมีย จนไปถึงการส่งตรวจไขกระดูก (Bone marrow study) ในรายที่สงสัยความผิดปกติที่ไขกระดูกเป็นต้น
จะเห็นได้ว่า โลหิตจางนั้น เป็นเพียงภาวะที่เกิดได้จากหลายสาเหตุมาก หลายครั้งที่เราพบผู้ป่วยโลหิตจางที่มีโรคซ่อนอยู่ และบางโรคต้องอาศัยการวินิจฉัยที่เฉพาะเจาะจง
ดังนั้นหากท่านมีอาการผิดปกติ หรือตรวจพบภาวะโลหิตจาง แนะนำปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาที่ตรงสาเหตุครับ
นพ.ณัฐวิช วังวิวัฒน์
แพทย์ใช้ทุน ฝ่ายเวชศาสตร์ชันสูตร
นพ.นพคณิน วีรติการ
แพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์บริการโลหิต