ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการรับเลือด คืออะไร มีอาการอย่างไร
การให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย โดยมีความจำเป็นต่อการช่วยชีวิต ทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการสูญเสียเลือดปริมาณมาก และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรง อย่างไรก็ตาม ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน
โดยบทความนี้จะพูดถึง ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดและส่วนประกอบของเลือด (Transfusion reaction) ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ โดยผู้เขียนแบ่งตามกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยดังนี้
กลุ่มอาการ ไข้/หนาวสั่น
Hemolytic Reaction
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงแตก ที่สัมพันธ์กับการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบเลือด โดยนอกจากอาการไข้ผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้
- ปวดหลัง หรือบั้นเอว
- ปวดร้อนบริเวณผิวหนังรอบที่แทงหลอดเลือดดำ
- ปัสสาวะสีคล้ำ
- ภาวะปัสสาวะออกน้อย หรือ ไม่ออกเลย, ภาวะไตวาย
โดย Hemolytic reaction สามารถแบ่งตามระยะเวลาการเกิดได้เป็น
- Acute hemolytic transfusion reaction (AHTR) เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หลังรับเลือด
- Delayed hemolytic transfusion reaction (DHTR) เกิดขึ้นหลังการรับเลือดไปแล้วนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง อาจมีอาการหรืออาการแสดงต่าง ๆ คล้ายคลึงกับ AHTR แต่รุนแรงน้อยกว่า
การวินิจฉัยจะประกอบด้วย อาการแสดง ร่วมกับ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่แสดงถึงภาวะเม็ดเลือดแดงแตก นอกจากนี้ยังต้องมีผลตรวจเพื่อหาสาเหตุร่วมด้วย โดยสาเหตุนั้นอาจเกิดจาก ภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune-mediated) มักเกิดจากการให้เลือดผิดหมู่ เช่นหมู่เลือด ABO, Rh หรือ ไม่ได้เกิดจากภูมิคุ้มกัน (Nonimmune-mediated) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นเช่น อุณหภูมิ สารเคมี ที่มีผลต่อโลหิตในถุง เป็นต้น
Febrile non-hemolytic transfusion reaction (FNHTR)
เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังได้รับเลือดที่ผู้ป่วยมีอาการไข้หรือมีอาการหนาวสั่นภายใน 4 ชม. หลังการรับเลือด โดยไม่มีสาเหตุอื่นที่อธิบายได้ ได้แก่ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกดังข้างต้น หรือการติดเชื้อ ที่ทำให้เกิดไข้ได้เช่นกัน
สาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการไข้หรือหนาวสั่น เกิดจากสาร Cytokines ที่หลั่งมาจากเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในถุงเลือด ซึ่งโดยปกติสารเหล่านี้เป็นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวของเราเวลามีการติดเชื้อนั่นเอง
Transfusion-transmitted infection (TTI)
เป็นการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการรับเลือด โดยการจะวินิจฉัยต้องมีหลักฐานการเพาะเชื้อขึ้นในเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่ผู้ป่วยได้รับ และผู้ป่วยต้องไม่มีการติดเชื้ออยู่ก่อน
กลุ่มอาการ หอบเหนื่อย/หายใจไม่อิ่ม
Transfusion-associated circulatory overload (TACO)
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจาก ปริมาณเลือดไหลเวียนมากเกินจากการรับเลือด ทำให้หัวใจไม่สามารถบีบเลือดในระบบให้หมุนเวียนโลหิตได้ตามปกติ เกิดน้ำคั่งอยู่ที่ปอดมากขึ้น และทำให้ปอดแลกเปลี่ยนแก๊สได้แย่ลง เกิดเป็นอาการเหนื่อยหอบ
เกณฑ์การวินิจฉัยจะต้องประกอบด้วย อาการแสดง การตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีวิทยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการจะวินิจฉัยภาวะนี้จากการได้โลหิตอย่างแน่ชัด ผู้ป่วยจะต้องไม่มีสารน้ำอื่นที่ได้รับร่วมด้วย
Transfusion-related acute lung injury (TRALI)
คือภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันที่เกิดหลังการได้รับเลือด โดยจะต้องมีผลการตรวจทางรังสีวิทยาที่ยืนยันความผิดปกติในปอด สาเหตุมักเกิดจากภูมิคุ้มกัน Antibody ในถุงเลือดไปทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย และเกิดการเกาะกันที่หลอดเลือดที่ปอด
การวินิจฉัยภาวะนี้อย่างแน่ชัด อาการจะต้องเข้าไม่ได้กับภาวะอื่น เช่น Transfusion-associated circulatory overload (TACO) และผู้ป่วยจะต้องไม่มีภาวะอื่นที่ส่งผลต่อปอดเช่นกัน เช่น การติดเชื้อที่ปอด การมีเลือดออก การได้รับสารพิษ เป็นต้น
Transfusion-associated dyspnea (TAD)
หมายถึง ภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบภายใน 24 ชม. หลังได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด และเข้าไม่ได้กับภาวะอื่น ๆ ได้แก่ Allergic reaction, Transfusion-associated circulatory overload (TACO), Transfusion-related acute lung injury (TRALI) โดยที่ไม่มีสาเหตุอื่นอธิบาย
กลุ่มอาการแพ้ผิวหนัง Allergic reaction
หมายถึง การเกิดปฏิกิริยาต่อโลหิตหรือส่วนประกอบของโลหิตที่มีอาการแสดงทางผิวหนังและเยื่อบุ เช่น
- ผื่นผิวหนัง
- ริมฝีปากหรือเปลือกตาบวม
- ผิวแดงทั่ว ๆ ตัว
- คันตามผิวหนัง
และในรายที่มีอาการแพ้แบบรุนแรง หรือ Anaphylaxis จะมีอาการของระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตต่ำลง หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น โดยการจะวินิจฉัยการแพ้จากการได้รับโลหิตอย่างแน่ชัด ผู้ป่วยต้องไม่มีสาเหตุอื่น เช่นได้รับประทานอาหาร หรือทานยาที่สงสัยว่าจะแพ้ เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการรับโลหิต มีอาการได้หลายรูปแบบ บางภาวะเกิดจากคนละสาเหตุแต่มีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน ทำให้การวินิจฉัยบางภาวะต้องอาศัยผลทางห้องปฏิบัติการจนถึงการตรวจทางรังสีวิทยา
ทั้งนี้ ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย จนถึงระดับที่อันตรายต่อชีวิตได้ และหากผู้ป่วยเคยได้รับโลหิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง ครั้งถัดไปก็อาจเกิดได้เช่นกัน
ดังนั้นหากท่านได้รับโลหิตแล้วเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล เพื่อประเมินอาการและหยุดให้เลือด รวมถึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไปครับ
สนใจหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน
สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ที่นี่