การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test)

การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test) เป็นการตรวจทางเคมีคลินิก เพื่อดูความผิดปกติต่างๆของตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดของระบบทางเดินอาหาร โดยตับมีหน้าที่หลัก ได้แก่

  1. หน้าที่เกี่ยวกับ Metabolism
    ตับทำหน้าที่ในการสร้างสารต่างๆ ทั้ง กรดอะมิโน เอนไซม์ต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงสารปัจจัยการแข็งตัวของเลือด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการกำจัดยา 
  2. หน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร
    ในตับจะมีการสร้างน้ำดี (Bile) และมีโครงสร้างที่ลำเลียงน้ำดีเข้าเก็บสู่ถุงน้ำดี และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยอาหาร จะออกมาที่ลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อช่วยในการย่อยและดูดซึมไขมัน 
  3. ระบบ Reticuloendothelial system (RES)
    เป็นระบบพิเศษที่พบในตับและม้าม ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิค้มกันของระบบย่อยอาหาร และทำหน้าที่สลายเม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว และสร้างบิลิรูบิน เพื่อเป็นส่วนประกอบของน้ำดีต่อไป 

จะเห็นได้ว่า ตับมีหน้าที่การทำงานหลายด้าน ดังนั้นการตรวจการทำงานของตับจึงต้องประกอบด้วยหลายค่า และใช้แปลผลร่วมกัน 

การตรวจการทำงานของตับ มีอะไรบ้าง?

การตรวจอาจแบ่งได้เป็น ส่วนของ Liver function หรือการทำงานตับ ได้แก่ Total bilirubin/Direct bilirubin, Albumin, Globulin, PT และส่วนของ Liver injury หรือ การบาดเจ็บของเซลล์ตับ ได้แก่ AST, ALT, ALP, GGT 

การตรวจ Bilirubin

Bilirubin เป็นผลผลิตที่เหลือจาการทำลายฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ก่อนจะถูกนำมาที่ตับและขับออกทางน้ำดีสู่ลำไส้ และออกสู่ร่างกายทางอุจจาระ การที่ค่าสูงขึ้นอาจบ่งชี้ภาวะการอุดตันของท่อน้ำดี หรือความผิดปกติของเซลล์ตับ ทำให้ตับไม่สามารถนำ Bilirubin ออกไปได้

ตัวอย่างโรคหรือภาวะ เช่น

  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เกิด Bilirubin ที่มากจนเกินความสามารถในการขับออกของตับ 
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ทำให้เซลล์ตับไม่มีประสิทธิภาพในการขับ Bilirubin รวมถึงการบวมจากการอักเสบในตับยังอาจบดบังช่องทางการขับออกของ Bilirubin 
  • การอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติในท่อเอง เช่น นิ่ว หรือการโดนเบียดจากภายนอกท่อน้ำดี เช่น ก้อนมะเร็ง
การตรวจ ประกอบด้วย Total Bilirubin (TB) เป็นการตรวจวัด Bilirubin ทั้งหมด มีช่วงค่าปกติที่ 0.20 – 1.20 mg/dL และ Direct Bilirubi (DB) เป็นการตรวจวัด Bilirubin เฉพาะรูปแบบที่ผ่านการทำปฏิกิริยาที่ตับแล้ว (Conjugated Bilirubin) มีช่วงค่าปกติที่ 0 – 0.5 mg/dL  ซึ่งแพทย์จะใช้ทั้งสองค่าในการวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป **
 

การตรวจเอนไซม์ตับ AST และ ALT

AST (Aspartate Transaminase) และ ALT (Alanine Transminase)  เป็นหนึ่งใน Enzyme หลายชนิดในเซลล์ตับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับ Metabolism ของโปรตีน เมื่อเซลล์มีการบาดเจ็บ Enzyme เหล่านี้จึงออกมาสู่กระแสเลือด โดย ALT จะมีความจำเพาะกับตับมากกกว่า AST เนื่องจาก AST ยังพบได้ในเซลล์สมอง หัวใจ ไต รวมถึงกล้ามเนื้อ อีกด้วย ภาวะอื่นเช่น หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อบาดเจ็บ จึงอาจทำให้ AST สูงขึ้นได้เช่นกัน

AST มีช่วงค่าปกติที่ 5 – 35 U/L (หน่วยสากลต่อลิตร) และ ALT มีช่วงค่าปกติที่ 0 – 40 U/L (หน่วยสากลต่อลิตร) ** 

ตัวอย่างภาวะ เช่น ภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮล์, การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม
ในรายละเอียดแต่ละภาวะ ให้รูปแบบการสูงขึ้นของ AST และ ALT ไม่เหมือนกัน 
ในการแปลผล แพทย์จะดูทั้งสองค่าร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป

การตรวจเอนไซม์ตับ ALP และ GGT

ALP (Alkaline phosphatate) และ GGT (Gamma glutamy| transferase) เป็น Enzyme ที่อยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ฝั่งที่ติดกับระบบท่อลำเลียง การอุดตันของระบบท่อน้ำดี เช่นจากนิ่ว ก้อนเนื้อ หรือกระบวนการอักเสบติดเชื้อ จะกระตุ้นการสร้างและลดการขับของ Enzyme ทำให้ระดับสูงขึ้นในเลือด

(เนื่องจาก ALP สามารถพบได้ในกระดูก จึงจำเป็น ต้องส่งตรวจ GGT ที่สามารถพบได้ในตับเท่านั้น เป็นการยืนยันเพิ่มเติม)

ALP มีช่วงค่าปกติที่ 40 – 120 U/L (หน่วยสากลต่อลิตร) **

การตรวจ Albumin 

ตับเป็นอวัยวะหลักที่สร้างโปรตีน รวมถึง Albumin ที่เป็นโปรตีนที่มีหน้าที่ขนส่งสารต่างๆในร่างกาย การวัดหน้าที่ของตับจึงมี Total protein, Albumin โดยมักใช้ในการประเมินผู้ป่วยโรคตับ ระดับ Albumin ที่ต่ำมักหมายถึงตับแข็งรุนแรงที่มีการบกพร่องหน้าที่ในการสร้างโปรตีนแล้ว และเนื่องจาก Albumin มีความสามารถในการอุ้มน้ำในเลือด การที่ Albumin ต่ำจึงทำให้สารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือด เกิดเป็นอาการบวมได้

Albumin มีช่วงค่าปกติที่ 3.5 – 5.0 g/dL **

โดยสรุป

จะเห็นได้ว่า การตรวจค่าตับ นั้นประกอบด้วยหลายค่า โดยมักจะตรวจ เมื่อแพทย์สงสัยความผิดปกติ นอกจากนี้ แพทย์อาจไม่ได้ส่งตรวจครบทุกอย่างดังที่กล่าวมา แต่ส่งเพียงบางค่าที่จะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติที่สงสัยในคนไข้

สำหรับ ค่าปกติ ของแต่ละรายการตรวจ อาจแตกต่างกันได้ตามน้ำยาและเครื่องตรวจที่ใช้ ดังนั้นจึงควรดูตามค่าอ้างอิงจากห้องปฏิบัติการนั้นๆ 
** ช่วงค่าปกติที่แสดงในบทความนี้ เป็น ค่าอ้างอิงของการตรวจที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ฝ่ายเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นอกจากนี้ในการแปลผล ในรายละเอียดของแต่ละภาวะความผิดปกติ มีช่วงของตัวเลข และรูปแบบที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องควบคู่ไปกับการซักประวัติและตรวจร่างกาย ดังนั้นหากท่านมีผลการตรวจที่มีความผิดปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เท่านั้นครับ 

สำหรับบทบาทของการตรวจการทำงานของตับในการตรวจสุขภาพ คลิก

สนใจหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน คลิก

นพ.ณัฐวิช วังวิวัฒน์

ผู้เขียนบทความ

ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร 

เกี่ยวกับผู้เขียน