
PSA คืออะไร ?
PSA หรือ Prostate specific antigen เป็นสารที่ต่อมลูกหมากสร้างขึ้นและขับออกมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในน้ำอสุจิ ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ย่อยน้ำอสุจิให้มีความเหนียวลดลงหลังจากถูกหลั่งออกมานอกร่างกายมากกว่า 10-15 นาทีแล้ว เพื่อช่วยให้น้ำอสุจิไหลไปสู่ปากมดลูกในเพศหญิงได้ง่ายขึ้น PSA สร้างจากเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก รวมทั้ง เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก จึงมีประโยชน์ในการใช้ตรวจ คัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงการติดตามผลการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย
โดย PSA ในเลือดมีอยู่ 2 รูปแบบ (form)
1. Bound/Complexed PSA เป็นรูปแบบที่จับอยู่กับโปรตีนในเลือด เป็นส่วนมาก
2. Free PSA เป็นรูปแบบที่ล่องลอยอิสระในเลือด เป็นส่วนน้อย
ในการวัดค่า PSA จะเป็นการวัดโดยรวมของทั้ง 2 form ดังกล่าว เป็น Total PSA (โดยปกติถ้าพูดถึงค่า PSA จะหมายถึง Total PSA)
การแปลผลค่า PSA
โดยทั่วไป ค่า PSA ควรน้อยกว่า 4 ng/mL และหากค่า PSA มากกว่า 10 ng/mL จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
อย่างไรก็ตาม การที่อายุที่มากขึ้นก็สามารถทำให้ค่า PSA สูงขึ้นได้ โดยมีการศึกษาค่าปกติของ PSA ที่สูงขึ้นตามกลุ่มช่วงอายุ ดังตาราง

(Saleh AM et al, EARLY DETECTION AND SCREENING FOR PROSTATE CANCER. 2016)
สาเหตุของ PSA ที่สูง
ค่า PSA ที่สูงขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป ยังมีอีกหลายภาวะที่ทำให้ค่า PSA สูงขึ้นได้ เช่น
- ต่อมลูกหมากโต
- ต่อมลูกหมากอักเสบ
- ภาวะปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะคั่ง
- การสวนปัสสาวะ
- การส่องกล้องท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ หรือการทำหัตถการ เช่น ขยายท่อปัสสาวะ
- การเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
แล้วค่า PSA สูงกว่า 4 ng/ml เสี่ยงแค่ไหน ?
เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้ตัดว่าควรใช้ค่า PSA เท่าใด มาจากการทดลองและการคำนวณทางสถิติ เพื่อหาค่าที่เหมาะสมในการนำมาคัดกรองมากที่สุด โดยพิจารณาจากความไวในการคัดกรอง(Sensitivity) และความจำเพาะต่อโรค(Specificity) เพราะในความเป็นจริง ก็จะมีทั้งผู้ป่วยมะเร็ง แต่ PSA ไม่สูง และผู้ป่วยที่ PSA สูงแต่ไม่เป็นมะเร็ง เช่นกัน
หากเราใช้ค่า PSA ที่ 4 ng/mL ในการคัดกรอง จะมีความไวต่อการคัดกรองโรค (Sensitivity) 78% และมีความจำเพาะต่อโรค (Specificity) 33%
ในทางสถิติหมายความว่า
- ในผู้ป่วย 100 คนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 78 คนจะมีค่า PSA มากกว่า 4 ng/mL
อีก 22 คนค่า PSA น้อยกว่า 4 ng/mL - และในคนที่ปกติ 100 คน มี 33 คนที่ค่า PSA น้อยกว่า 4 ng/mL
ที่เหลือ 67 คน มี PSA สูงกว่า 4 ng/mL
(ซึ่งหากเราลดเกณฑ์ลงมาตัดที่ค่า PSA 2.8 ng/mL จะเพิ่มความไวต่อการคัดกรองโรคเป็น 92% แต่ความจำเพาะต่อโรคจะลดลงเป็น 23% เท่านั้น แต่หากเพิ่มตัดที่ค่า PSA 8 ng/mL จะเพิ่มความจำเพาะต่อโรค 90% แต่ความไวการคัดกรองจะลดลงต่ำมาก)
รู้จักกับ Percent Free PSA
ในช่วงค่า PSA ระหว่าง 4 – 10 ng/mL ที่เป็นช่วงค่า ที่ก้ำกึ่ง โดยปกติจะต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากเพื่อยืนยันหาเซลล์มะเร็ง แต่บางโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ สามารถตรวจค่า Free PSA ร่วมด้วยได้ โดยดูจากค่า Percent Free PSA
Percent Free PSA = (Free PSA/total PSA) × 100
โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีค่า Percent Free PSA ที่ต่ำ โดยใช้ค่าตัดที่ 25 ค่ายิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
จากการศึกษาในผู้ป่วยชายอายุ 50-70 ปี ที่มีค่า PSA ระหว่าง 4 – 10 ng/ml จำนวน 773 ราย โดยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และเป็นต่อมลูกหมากโตอย่างละครึ่ง พบว่า Percent Free PSA มีความไวในการคัดกรอง 90% และมีความจำเพาะ 20%
ซึ่งการนำ Percent Free PSA มาช่วยคัดกรองเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยที่ PSA ระหว่าง 4 – 10 ng/ml จะมีประโยชน์ในการลดผู้ป่วยที่จะต้องโดนเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยไม่จำเป็นได้ 20% (ซึ่งถือว่าเยอะ หากเทียบกับการที่ PSA สูงขึ้นแล้วต้องโดนเจาะชิ้นเนื้อทุกคน)

PSA ยังมีประโยชน์ในการติดตามการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Radical prostatectomy) รังสีรักษา (radiation therapy) โดยค่า PSA จะลดลงหากตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า ค่า PSA มีความไวต่อการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสูง แต่มีความจำเพาะต่อโรคต่ำ การแปลผลในช่วงค่าที่ก้ำกึ่งต้องใช้ความระมัดระวัง ในทางปฏิบัตินอกจากการเจาะเลือดดูผล PSA ควรมีการตรวจร่างกายร่วมด้วยเสมอ คือ การตรวจลักษณะต่อมลูกหมากทางทวารหนักโดยแพทย์ (digital rectal examination, DRE) หรือการใช้เทคโนโลยีอย่าง Ultrasound หรือ MRI ร่วมด้วยจะยิ่งเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น
ดังนั้นหากท่านไปตรวจค่า PSA จากคลินิก หรือห้องปฏิบัติการเอกชน แล้วได้ผลออกมาสูงกว่าเกณฑ์ อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวล แนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ เพื่อสอบถามอาการ และตรวจเพิ่มเติมต่อไปครับ
เอกสารอ้างอิง
- Rifai N, Horvath AR, Wittwer CT, Tietz NW (eds) (2018) Tietz textbook of clinical chemistry and molecular diagnostics, Sixth edition. Elsevier, St. Louis, Missouri
- แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษา โรคมะเร็งต่อมลูกหมากแห่งประเทศไทย
- Catalona WJ, Partin AW, Slawin KM, Brawer MK, Flanigan RC, Patel A, et al. Use of the Percentage of Free Prostate-Specific Antigen to Enhance Differentiation of Prostate Cancer From Benign Prostatic DiseaseA Prospective Multicenter Clinical Trial. JAMA. 1998 May 20;279(19):1542–7.
- Saleh AM, Fooladi MM, Petro-Nustas W, Dweik G, Abuadas MH. EARLY DETECTION AND SCREENING FOR PROSTATE CANCER. 2016;5(4).

นพ.วชิราวิชญ์ ทิพย์คูนอก
แพทย์ประจำบ้าน สาขาพยาธิวิทยาคลินิก

นพ.ณัฐวิช วังวิวัฒน์
ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมากโต – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
มะเร็งต่อมลูกหมาก – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
สนใจ หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาพยาธิวิทยาคลินิก คลิก