การบริหารจัดการเลือดในโรงพยาบาล (Patient Blood Management)

การให้เลือด (Blood Transfusion) ถือเป็นการรักษาที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดรุนแรง ผู้ป่วยที่เสียเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม เลือดในโรงพยาบาลมีปริมาณจำกัด ต้องอาศัยผู้ที่มาบริจาคเลือดเท่านั้น ทั้งยังมีต้นทุนสูงในการจัดเตรียม ที่ต้องมีกระบวนการที่มีมาตรฐานและการตรวจสอบความปลอดภัย  โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ยอดผู้บริจาคเลือดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สวนทางกับจำนวนของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการใช้เลือด การบริหารจัดการเลือดในโรงพยาบาล จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากการจัดเตรียมเลือดให้ผู้ป่วย ที่มีข้อบ่งชี้ ในปริมาณที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยจัดสรรเลือดที่เหลือในคลังให้มีเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นรายอื่นๆ และจัดเตรียมได้อย่างทันเวลา

Patient Blood Management (PBM) คือ แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับเลือด ที่ครอบคลุมการให้เลือดอย่างเหมาะสม ถูกจัดทำร่วมกันโดยแพทย์หลากหลายสาขา โดยครอบคลุมตั้งแต่ การตรวจหาภาวะโลหิตจางและปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก ก่อนผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัด จนถึงการดูแลผู้ป่วยในห้อง ICU และหลังผ่าตัดอย่างเหมาะสม มีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้เลือดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย

นอกจากด้านปริมาณเลือด Patient Blood Management ยังมีความสำคัญในด้านอื่นๆ เช่น

  • ลดภาระงานรวมถึงเวลาของบุคลากร ที่ต้องเตรียมเลือดที่เกินความจำเป็น
  • ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆของโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุข ในการเตรียมเลือดสำหรับผู้ป่วย
  • ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรับโลหิตโดยไม่จำเป็น
  • เป็นการสร้างมาตรฐานการให้เลือด ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ถูกต้องและมีมาตรฐานเดียวกัน

Patient Blood Management จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในเวชศาสตร์บริการโลหิต ตั้งแต่ในระดับโรงพยาบาล ระดับประเทศ และระดับสากล

สำหรับ การบริหารจัดการเลือดในโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เรามีโครงการ “การใช้เลือดและส่วนประกอบของเลือดอย่างเหมาะสม (Patient Blood Management)” ดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี โดยมีการจัดทำแนวทางที่ครอบคลุม การให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด ประกอบด้วย การให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น, การขอแบบ Type and Screen และ Type and Screen with crossmatch, การให้เกล็ดเลือด, การให้พลาสมา ซึ่งครอบคลุมทั้งในผู้ป่วยที่ป้องกันเลือดออกก่อนทำหัตถการ และผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออก

เรามีการกำหนดตารางการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดในแต่ละกลุ่มโรคที่ชัดเจน หรือที่เรียกว่า Maximum Surgical Blood Order Schedule (MSBOS) เพื่อป้องกันการสั่งเตรียมเลือดที่มากเกินไป โดยภาควิชาฯ และฝ่ายต่างๆของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มีการใช้เลือดและส่วนประกอบเลือด ร่วมกันกำหนดมาตรฐานการใช้เลือดในแต่ละหัตถการ/การผ่าตัด

ตลอดระยะเวลาที่โครงการดำเนินการมา ทางภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรร่วมกับฝ่ายธนาคารเลือด ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรมวิชาการ, workshop เกี่ยวกับการจัดการเลือด, รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในองค์กรแพทย์โรงพยาบาลจุฬา ฯ เพื่อให้แพทย์ของเรามีความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เลือดอย่างเหมาะสม

ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรและฝ่ายธนาคารเลือดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นอันดับที่หนึ่งเสมอมา ไม่ใช่เพียงการให้เลือดในผู้ป่วยแต่ละคน แต่เป็นการยกระดับการจัดการเลือดของทั้งระบบโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยทุกคน

นพ.ณัฐวิช วังวิวัฒน์

แพทย์ช่วยสอนประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร 

อาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร