
หลายท่านอาจเคยได้ยินหรือรู้จัก ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีการสลายมวลกระดูกมากขึ้น และการสร้างมวลกระดูกลดลง เกิดภาวะเสียสมดุลระหว่างการสลายมวลกระดูกเดิมและการสร้างมวลกระดุกใหม่ และส่งผลกระดูกเสื่อมและกระดูกหักง่ายขึ้น
การตรวจวินิจฉัยหลัก จะใช้การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา (DEXA) และนอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาสารที่บ่งชี้ถึงการสร้างมวลกระดูก หรือการสลายมวลกระดูกได้ ซึ่งเรียกว่า “Bone Marker” โดยอาศัยการตรวจเลือด หรือปัสสาวะ
เนื่องจากสารบ่งชี้มวลกระดูกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และมีความไวในการตรวจมากกว่าการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ดังนั้นสารบ่งชี้มวลกระดูกจึงถูกนำมาใช้พยากรณ์โรค และตรวจติดตามการรักษาภาวะกระดูกพรุน ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและติดตามการรักษาภาวะกระดูกพรุน รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ตัวอย่างสารบ่งชี้มวลกระดูก ที่นิยมส่งตรวจมากในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สารบ่งชี้มวลกระดูกเพื่อดูการสร้างมวลกระดูก (Bone formation marker)
- Bone alkaline phosphatase (ALP-B)
เป็นเอนไซม์ที่สร้างจากเซลล์ osteoblast เพื่อใช้สลายฟอสเฟตเพื่อใช้ในกระบวนการสะสมแร่ธาตุของกระดูก พบค่าสูงในเด็กวัยเจริญเติบโต หรือ ในมะเร็งกล้ามเนื้อและกระดูก - Osteocalcin
เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเนื้อเยื่อกระดูกที่ไม่ใช่คอลลาเจน ประกอบด้วยกรดกลูตามิคปริมาณมาก เมื่อมีการสร้างกระดูก Osteocalcin จะเพิ่มสูงขึ้นในกระแสเลือด และถูกขับออกทางไตได้ โดยตรวจวิเคราะห์ใน เลือด
สารบ่งชี้มวลกระดูกเพื่อดูการสลายมวลกระดูก (Bone resorption marker)
- Beta-CrossLaps (B-CTx)
เป็นการตรวจวิเคราะห์การทำงานของเซลล์ osteoclast ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก และบ่งชี้ว่ามีการสลายของ collagen type I ในกระดูกโดยเอนไซม์ cathepsin K
ตรวจด้วยวิธี Electrochemiluminescence immunoassay (ECLIA) โดยตรวจวิเคราะห์ได้หาได้ทั้งใน เลือด ซีรั่ม และ ปัสสาวะ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ Bone Marker
เพื่อประกอบการวินิจฉัย
- ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
- มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก (Bone metastasis)
- โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิด ชนิดปฐมภูมิ (Primary hyperparathyroidism)
- พยาธิสภาพของกระดูกในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (Renal osteopathy)
เพื่อการพยากรณ์โรค
- ความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ในผู้ป่วยหมดประจำเดือน
- ความเสี่ยงต่อการกระดูกหัก
การติดตามการรักษา
- ผู้ป่วยที่รักษา มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก (Bone metastasis)
- ผู้ป่วยที่ได้รับยา หรือ ฮอร์โมนทดแทน (Anti-resorptive therapy or hormonal therapy)
การเตรียมตัวก่อนตรวจก่อนการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- งดอาหารก่อนตรวจ 12 ชั่วโมง อาหารบางชนิดอาจทำให้ค่าของlabสูงขึ้นได้
- ผู้ป่วยควรมาเจาะเลือด ช่วง 8:00-9:00 น. เนื่องจากค่าของ bone markerในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา (diurnal variation) โดยมีระดับสูงสุดในช่วงเช้า
(ระยะเวลาการส่งตรวจขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของห้องปฏิบัติการที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด)