การตรวจสุขภาพ (Health Check-Up)

doctor, medical, medicine-563428.jpg

การตรวจสุขภาพ หรือ Health check Up คือ การตรวจร่างกายในภาวะที่ปกติ ไม่มีการเจ็บป่วย มีวัตถุประสงค์ เพื่อคัดกรอง และหาปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ โดยนอกจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็จะมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

หลายท่านอาจเคยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเคยเห็นโปรแกรมตรวจสุขภาพต่างๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล อย่างไรก็ตามบางท่านอาจไม่ทราบว่าค่า Lab แต่ละตัวที่ตรวจคือการตรวจอะไร มีความจำเป็นต้องตรวจหรือไม่
ในบทความนี้จะพูดถึง การตรวจทางห้องปฏิบัติการในการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ “จำเป็น” ตามแนวทางการตรวจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (1) และแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (2) เป็นหลัก **

** เนื่องจากแต่ละสถานที่ จำนวนผู้ป่วย, อุบัติการณ์โรคที่พบ, งบประมาณการจัดการ อาจไม่เหมือนกัน รายละเอียดการตรวจตามอายุจึงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล รวมถึงแนวทางตรวจสุขภาพของ รพ.จุฬาลงกรณ์ เองอาจมีชุดการตรวจที่ต่างไปเล็กน้อยได้ และอาจตรวจครอบคลุมมากขึ้น ขึ้นอยู่กับนโยบายสถานพยาบาล และการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ

การซักประวัติและตรวจร่างกาย

โดยทั่วไป แพทย์จะซักประวัติ สุขภาพทั่วไป, พฤติกรรมต่างๆ เช่นการกิน การออกกำลังกาย, ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสารเสพติด รวมถึงประวัติโรคในครอบครัว เช่นมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น, และตรวจร่างกายทั่วไป ได้แก่การวัดสัญญาณชีพ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว และการตรวจร่างกายตามระบบ

doctor, security, consulting room-1228629.jpg

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • Complete Blood Count (CBC)
    หรือ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือการตรวจนัดเม็ดเลือดและดูรูปร่างความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง โดยภาวะหลักที่ต้องคัดกรองได้แก่ ภาวะโลหิตจาง (Anemia) แนะนำตรวจระหว่างอายุ 19 -60 ปี 1 ครั้ง และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากภาวะซีดเป็นภาวะที่พบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอื่นได้
  • Fasting Plasma Glucose (FPG)
    หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร เพื่อคัดกรองโรค เบาหวาน (Diabetes) โดยแนะนำให้ตรวจทุก 3 ปีในผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามหากผลผิดปกติ คือ Impaired fasting glucose หรือ Prediabetes แนะนำตรวจติดตามทุก 1 ปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ
  • การตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c)
    เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยหากผลตรวจคัดกรอง FPG ผิดปกติ และเพื่อติดตามการรักษาโรคเบาหวาน ไม่ได้อยู่ในคำแนะนำแนวทางการตรวจสุขภาพ
  • Total Cholesterol, HDL Cholesterol, Triglycerides, Calculated LDL
    หรือการตรวจไขมัน เพื่อคัดกรองภาวะไขมันสูง และเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแนะนำตรวจทุก 5 ปีในผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม หลังอายุ 75 ปี หากไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจพิจารณาไม่จำเป็นต้องตรวจต่อ
  • Serum Creatinine (Cr)
    เป็นการตรวจสารครีเอตินิน เพื่อนำไปประมาณอัตราการกรองของไต หรือ estimated glomerular filtration rate (eGFR) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง โดยแนะนำตรวจในผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง (2)
    ยังไม่มีการแนะนำให้ตรวจ Blood Urea Nitrogen (BUN) ร่วมด้วย เนื่องจาก eGFR สามารถคำนวณได้จากเพียง Creatinine
  • Aspartate aminotransferase (AST), Alanine aminotransferase (ALT), Alkaline phosphatase (ALP)
    เป็นการตรวจเอนไซม์ตับ อยู่ในชุดตรวจของการตรวจตับ (Liver Function Test) โดยในแนวทางการส่งตรวจอย่างสมเหตุสมผลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น แนะนำตรวจเพียง AST, ALT ครั้งเดียว อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ โรคอ้วน, ภาวะลงพุง, ดื่มสุราเป็นประจำ แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง และในส่วนการตรวจอื่นในชุดการตรวจตับนอกจาก AST, ALT ยังไม่มีคำแนะนำอยู่ในแนวทาง (2)
  • Urinalysis (UA)
    หรือการตรวจปัสสาวะ เป็นการนำปัสสาวะไปตรวจดูสารต่างๆ และส่องกล้องเพื่อดูเซลล์และผลึก เพื่อคัดกรองความผิดปกติโดยรวมของทางเดินปัสสาวะ โดยแนะนำตรวจในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง (1)
  • Uric acid
    หรือการตรวจระดับกรดยูริคในเลือด ยังไม่ได้มีการแนะนำให้ตรวจเป็นประจำ เนื่องจากผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูง อาจไม่ได้เป็นโรคเกาต์ (Gout) ทุกราย โดยเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า Asymptomatic Hyperuricemia และไม่จำเป็นต้องได้รับยาลดกรดยูริค

การตรวจอื่นๆ

  • HBsAg
    หรือการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แนะนำตรวจครั้งเดียว ในผู้ใหญ่อายุ 19-65 ปี เฉพาะผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 (เนื่องจากวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ทารกทุกคนได้รับหลักปี พ.ศ. 2535 ผู้ที่เกิดก่อนอาจยังไม่ได้รับวัคซีน) โดยหากผลตรวจปกติ และยังไม่ได้รับวัคซีน แนะนำให้ไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาล
  • Anti-HCV
    หรือการตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบซี แนะนำตรวจ 1 ครั้ง ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี และ ผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ พนักงานบริการทางเพศ, ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น, ผู้ต้องขังหรือผู้เคยมีประวัติต้องขัง, ผู้ที่เคยสักผิวหนัง เจาะผิวหนังหรืออวัยวะต่าง ๆ ในสถานประกอบการที่ไม่ใช่สถานพยาบาล, และผู้ที่มีคู่สมรสหรือผู้ที่เพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
    * อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำส่งตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วมด้วยในกลุ่มเสี่ยง เช่น HIV, Treponemal Ab (Syphilis) หรือ Bacteria ชนิดอื่นๆเป็นต้น
  • Fecal Occult Blood Test (FOBT)
    เป็นการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง แนะนำตรวจในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง
  • Tumor marker
    การตรวจสารก่อมะเร็งไม่ได้อยู่ในคะแนะนำการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
running, woman, race-4782722.jpg

การตรวจ Health check up เป็นประจำมีความสำคัญในการป้องกันโรค ทั้งในแง่การคัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆก่อนจะเกิดเป็นโรค หรือ การตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อน และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญสำหรับแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคที่ดีที่สุดจริงๆไม่ใช่เพียงแค่การมาตรวจประจำปีละ 1 ครั้ง แต่เป็นการดูแลสุขภาพในทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน และการออกกำลังกายครับ  

  1. แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน. กรมการแพทย์. นนทบุรี, ไทย: สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2565.
  2. แนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU). กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. นนทบุรี, ไทย: สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข;

นพ.ณัฐวิช วังวิวัฒน์

แพทย์ช่วยสอนประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร